วันจันทร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2551

แผนบริหารการสอนประจำบทที่ 11

เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

หัวข้อเนื้อหาประจำบท

1. ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
2. บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา
3. บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอน
4. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานการศึกษา
5. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม

1. ผู้เรียนสามารถสรุปความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาได้
2. ผู้เรียนสามารถอธิบายบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการศึกษาได้
3. ผู้เรียนสามารถอธิบายบทบาทของครูในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการสอนได้
4. ผู้เรียนสามารถบอกแนวทางการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานการศึกษาได้
5. ผู้เรียนสามารถสรุปวิธีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆกับการศึกษาได้
6. ผู้เรียนสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่อการเรียนรู้ของตนเองได้





วิธีการสอน

1. บรรยาย
2. การถาม-ตอบ
3. อภิปรายกลุ่ม

กิจกรรมการเรียนการสอน

1. ทบทวนเนื้อหาในบทที่ผ่านมา พร้อมกับเฉลยคำถามทบทวน
2. ผู้สอนบรรยายเนื้อหาใช้แผ่นภาพโปร่งใสประกอบ
3. แบ่งกลุ่มผู้เรียนกลุ่มละ 3-5 คน อภิปรายร่วมกันในหัวข้อบทบาท และแนวทางในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประเภทต่างๆกับการศึกษา
4. ให้ผู้เรียนช่วยกันสรุปเนื้อหาบทเรียน
5. มอบหมายให้ผู้เรียนศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
6. มอบหมายให้ตอบคำถามทบทวน

สื่อการเรียนการสอน

1. เอกสารประกอบการสอนเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
2. แผ่นภาพโปร่งใส พร้อมเครื่องฉายภาพข้ามศรีษะ
3. เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
4. คำถามทบทวน

การวัดและวิธีการประเมินผล

1. ใช้วิธีสังเกตจากการตั้งใจฟังคำอธิบายขณะสอน
2. ใช้วิธีการถามให้ตอบอย่างต่อเนื่องและสังเกตการมีส่วนร่วม
3. ใช้วิธีการตรวจสอบจากการให้ไปค้นคว้าผ่านเว็บไซต์
4. ใช้วิธีตรวจสอบจากการตอบคำถามทบทวน


บทที่ 11


เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา


เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทโดยตรงกับการสร้างความรู้(Knowledge Constructor) เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยรวบรวมข้อมูลข่าวสาร ความรอบรู้ การจัดระบบ การประเมินผล การส่งผ่านและสื่อสารด้วยความเร็วสูง และมีปริมาณมาก การนำเสนอและแสดงผลด้วยระบบสื่อต่างๆทั้งในด้านข้อมูล รูปภาพ เสียง และวีดิทัศน์ อีกทั้งยังสามารถสร้างระบบปฏิสัมพันธ์แบบโต้ตอบ ทำให้การเรียนรู้ยุคใหม่ประสบความสำเร็จด้วยดี การเรียนยุคใหม่ใช้แหล่งความรู้ที่เรียกว่า World Knowledge ซึ่งมีแหล่งความรู้ที่มากมายกระจายอยู่ทั่วโลก ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้มาก และรวดเร็ว อีกทั้งสามารถแยกแยะค้นหาข่าวสาร ตลอดจนการแสวงหาสิ่งต่างๆได้ตรงตามความต้องการอีกด้วย

ความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

ก่อนที่จะกล่าวถึงความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา(Information Technology for Education) ควรทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า ข้อมูล(Data) สารสนเทศ(Information) และเทคโนโลยีสารสนเทศ(Information Technology) ให้เข้าใจดีเสียก่อน
ข้อมูล(Data or Row Data) หมายถึง ข้อเท็จจริง(Fact) ที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นคำว่าข้อมูลในทางคอมพิวเตอร์ จะหมายถึงข้อเท็จจริงที่มีการเก็บรวบรวมไว้ และมีความหมายในตัวเอง
สารสนเทศ(Information) หมายถึง การนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มาผ่านกระบวนการ(Process) เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประโยชน์ต่อการตัดสินใจ
ในอดีตกระบวนการแปลงข้อมูลเป็นสารสนเทศที่ใช้คนเป็นผู้ดำเนินการ ทำให้มีความล่าช้าทั้งในขั้นตอนของการจัดเก็บ การประมวลผล และการนำไปใช้ แต่ในปัจจุบันคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุกวงการ โดยเฉพาะความสามารถที่โดดเด่นคือการคำนวณ จึงได้มีการนำคอมพิวเตอร์มาช่วยในการประมวลผลข้อมูลต่างๆรวมทั้งการจัดเก็บและเผยแพร่ ดังนั้นจึงเรียกสารสนเทศที่ผ่านการดำเนินการของคอมพิวเตอร์ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ
พิเชษฐ์ เพียรเจริญ(2538 : 55) ได้ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเทคโนโลยีเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินงานใดๆ เพื่อจัดทำสารสนเทศไว้ใช้งานซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีโทรคมนาคม และยังรวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ให้เป็นประโยชน์
ครรชิต มาลัยวงศ์(2541 : 77) เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ ประมวลผล และเผยแพร่สารสนเทศ ซึ่งรวมแล้วก็คือ เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม หรือ Computer and Communications ที่นิยมเรียกย่อๆว่า “C&C”
รัฐกรณ์ คิดการ(2547 : 262) ให้ความหมายว่า เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นการประยุกต์ใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวม ประมวลผล เก็บรักษา และเผยแพร่ข้อมูลและสารสนเทศ โดยรวมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ฐานข้อมูล และการสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งสารสนเทศนั้นๆสามารถส่งและแลกเปลี่ยนโดยผ่านระบบเครือข่ายโทรคมนาคมต่างๆ
สรุปว่า เทคโนโลยีสารสนเทศ หมายถึง การนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมรวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆที่เกี่ยวข้องมาใช้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล การนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่องค์กร และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา หมายถึง การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายโทรคมนาคมที่เชื่อมต่อกันสำหรับใช้ในการส่งและรับข้อมูล และสื่อประสมเกี่ยวกับความรู้ โดยผ่านกระบวนการประมวลผลหรือจัดให้อยู่ในรูปแบบทีมีความหมายและความสะดวกมาใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์และการสื่อสารโทรคมนาคมมีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา ดังนี้
1. เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีส่วนช่วยเรื่องการเรียนรู้ ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการเรียนรู้หลายด้าน มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยสอน(CAI) ระบบสนับสนุนการรับรู้ข่าวสาร เช่น การค้นหาข้อมูลข่าวสารเพื่อการเรียนรู้ใน World Wide Web เป็นต้น
2. เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาสนับสนุนการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการจัดการศึกษาสมัยใหม่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารเพื่อการวางแผน การดำเนินการ การติดตามและประเมินผล ซึ่งอาศัยคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสารโทรคมนาคมเข้ามามีบทบาทที่สำคัญ
3. เทคโนโลยีสารสนเทศถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารระหว่างบุคคล ใน เกือบทุกวงการ ทั้งทางด้านการศึกษาจำเป็นต้องอาศัยสื่อสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคล เช่น การสื่อสารระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน โดยใช้องค์ประกอบที่สำคัญช่วยสนับสนุนให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เช่น การใช้โทรศัพท์ โทรสาร ไปรษณีย์อีเล็คทรอนิคส์ เทเลคอนเฟอเร็นซ์ เป็นต้น

บทบาทของครูในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสอน

ในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน ครูจำเป็นต้องปรับบทบาทให้เป็นนักจัดและออกแบบระบบการเรียนการสอน ข้อมูลสารสนเทศ ออกแบบและจัดแหล่งสื่อการศึกษา ออกแบบสภาพแวดล้อมทางการศึกษา และเป็นนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกในการเรียน บทบาทดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
1. ครูในฐานะนักจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอน การจัดระบบและออกแบบระบบการเรียนการสอนเป็นขอบข่ายงานโดยตรงของนักเทคโนโลยีการศึกษา และเป็นบทบาทที่ครูต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ หรือผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด ทั้งนี้เพราะลักษณะกิจกรรม สื่อ และกระบวนการในรายละเอียดเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์และสภาพแวดล้อมในขณะนั้นตลอดเวลา ถ้าไม่มีการจัดระบบหรือออกแบบระบบการเรียนการสอนให้เหมาะสม การเรียนการสอนนั้นๆก็จะประสบความล้มเหลวได้ง่าย
2. ครูในฐานะนักจัดการสารสนเทศ สารสนเทศในยุคสังคมข้อมูลข่าวสารมีหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นสื่อสารมวลชน สื่อสารผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม แหล่งสื่อเครือข่ายกระจายสารโลก เครือข่ายอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ล้วนแต่เป็นแหล่งสารสนเทศมากมายและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ถ้าครูไม่รู้จักแหล่งสารสนเทศเหล่านี้ หรือ ไม่รู้จักเลือกสรร จัดเก็บ และเตรียมเชื่อมโยงในการใช้ที่เหมาะสมแล้ว การเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ด้วยตนเองก็จะประสบความล้มเหลว เพราะผู้เรียนอาจสับสนกับเทคโนโลยีที่ไม่เกี่ยวข้อง
3. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดการแหล่งสื่อการศึกษา การเรียนการสอนในยุคสังคมข่าวสารนี้ ครูไม่สามารถจะใช้สื่อโสตทัศน์ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านปริมาณและคุณภาพมาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการเรียนรู้ได้ เพราะไม่สามารถตอบสนองต่อความคิดความต้องการ และการสร้างสรรค์ของผู้เรียนที่มีความแตกต่างกัน ครูจำเป็นต้องรู้แหล่งสื่อการศึกษา เช่น แหล่งชุมชนทุกรูปแบบ แหล่งสื่อฐานข้อมูล แหล่งสื่อเว็บไซต์ แหล่งสื่อฐานความรู้ เป็นต้น ครูจะต้องสามารถจัดระบบการใช้ การสื่อสาร และการเชื่อมโยงกับแหล่งสื่อเหล่านั้น และสามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย
4. ครูในฐานะนักออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมทางการศึกษา สภาพแวดล้อมทางการศึกษาเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญมากสำหรับการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะสภาพแวดล้อมทางการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นสื่อนำเข้าสู่บทเรียน สื่อจุดประกายความคิดของผู้เรียน และเป็นสิ่งสำคัญในการกำหนดทิศทางและขอบข่ายการเรียนของผู้เรียน ครูจำเป็นต้องฝึกตนเองให้มีความรู้ ความสามารถในการออกแบบและจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ สภาพแวดล้อมทางสังคม และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้เรียน
5. ครูในฐานะนักแนะแนวและอำนวยความสะดวกการเรียน การแนะแนวการเรียนเป็นบทบาทสำคัญสำหรับการสอนที่ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ เพราะถ้าครูแสดงบทบาทเป็นผู้สอนเมื่อใดการที่จะมุ่งหวังให้ผู้เรียนคิดเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเองก็จะไม่บรรลุเป้าหมายได้ ผู้เรียนก็จะเป็นได้เพียงนักจำและผู้ทำตามคำบอกของครูเท่านั้น การเป็นนักแนะแนวที่มีความสามารถย่อมสามารถวางแผนการเรียนได้ดี สามารถกำหนดของเขต และทิศทางการเรียนแต่ละบทเรียนได้แม่นยำ ซึ่งจะเป็นผลให้ครูสามารถจัดการ เตรียมสื่อ และเครื่องอำนวยความสะดวกในการเรียนได้เหมาะสมกับบทเรียนด้วย

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานการศึกษา

การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในหน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานใดๆจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการนำเทคโนโลยีมาติดตั้ง และความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร การจัดการ และเทคโนโลยีสารสนเทศนั้นๆซึ่งมีรายละเอียดต่างๆที่ต้องพิจารณา(Laudon & laudon, 1996, p.13)
1. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาติดตั้ง
1.1 แนวทางด้านเทคนิค(Technical Approach) แนวทางนี้จะให้ความสำคัญด้านเทคนิคเป็นหลักมุ่งความสำคัญที่การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวผลักดันการดำเนินงานต่างๆ เน้นเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น จะซื้อคอมพิวเตอร์ต้องเป็นรุ่นล่าสุด เป็นประเภทชอบลองของใหม่ ข้อดีของแนวทางนี้ คือทำให้มีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงและทันสมัยใช้ แต่มีข้อจำกัดคือ อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง และการเน้นที่ตัวเทคโนโลยีมากเกินไปบางครั้งอาจมีการต่อต้านจากบุคลากรในองค์กรได้
1.2 แนวทางด้านพฤติกรรม(Behavioral Approach) แนวทางนี้จะเน้นที่พฤติกรรมของคนในองค์การเป็นหลักการจะนำเทคโนโลยีใดๆมาใช้จะต้องพิจารณาถึงความพร้อมของบุคลากรและความสอดคล้องกับวัฒนธรรมองค์การ ข้อดีของแนวทางนี้คือ ได้รับการยอรับจากบุคลากรในหน่วยงาน แต่มีข้อจำกัดคือ บางหน่วยงานที่บุคลากรขาดพฤติกรรมหรือวัฒนธรรมในการใช้เทคโนโลยีอาจทำให้มีการพัฒนาด้านการใช้เทคโนโลยีน้อยหรือไม่มีการใช้เทคโนโลยีเลย
1.3 แนวทางการผสมผสานด้านเทคนิคและสังคม(Sociotechnical System) แนวทางนี้เป็นการผสมผสานทั้งด้านเทคนิคและพฤติกรรมของบุคลากร โดยการนำเทคโนโลยีมาติดตั้งจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมต่างๆประกอบ และเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยการนำมาใช้จะเน้นทั้งประสิทธิภาพของงานและความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานไปพร้อมๆกัน ซึ่งวิธีนี้ดูจะมีข้อดีกว่า 2 แนวทางแรก เพราะให้ความสำคัญทั้งเทคโนโลยีและบุคลากรในองค์การ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติเนื่องจากการจะใช้แนวทางนี้ให้ประสบผลสำเร็จได้นั้น ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบจะต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งด้านเทคนิค และพฤติกรรมของบุคลากรในหน่วยงานเป็นอย่างดี
2. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์การ การจัดการ และเทคโนโลยี
ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาติดตั้งนอกจากขึ้นอยู่กับการเลือกแนวทางที่เหมาะสมดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว การออกแบบให้สอดคล้องกับลักษณะขององค์การหรือมีการพิจารณาปัจจัยด้านองค์การประกอบด้วย และหากมีการจัดการที่ดีในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในองค์การก็จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และขณะเดียวกันหากองค์การมีลักษณะเปิดกว้างในการยอมรับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ประสบผลสำเร็จได้เช่นกัน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเทคโนโลยีสารสนเทศกับองค์การ และการจัดการค่อนข้างจะมีความสลับซับซ้อน
ดังนั้นจึงพบว่า บ่อยครั้งที่ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหลายหน่วยงานที่มีความทันสมัยด้านเทคโนโลยีแต่ไม่ประสบผลสำเร็จในการใช้งาน เนื่องจากขาดความเข้าใจถึงปัจจัยด้านองค์การและการจัดการ เช่น โครงสร้างองค์การ กระบวนการปฏิบัติงาน พฤติกรรม การตัดสินใจ การบริหาร การเมืองภายในองค์การ และวัฒนธรรมองค์การ
การออกแบบและการใช้ระบบสารสนเทศให้มีประสิทธิภาพ ผู้บริหารหรือผู้รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานจะต้องเข้าใจ สภาพแวดล้อม โครงสร้าง บทบาทหน้าที่และการเมืองขององค์การให้ได้ดีเท่ากับบทบาทของตนเองในการบริหารจัดการและการตัดสินใจ เมื่อเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ตลอดแล้วจะต้องพิจารณาถึงความสามารถ โอกาส และความเป็นไปได้ในการมีเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะนำมาสร้างหรือใช้ระบบสารสนเทศเพื่อช่วยในการบริหารจัดการ และแก้ไขปัญหา ความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้รวมอยู่ในภาพใหญ่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์การเทคโนโลยีและการบริหารจัดการ




การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา

การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการศึกษานั้น ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หลายอย่างมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้เกิดการเรียนการสอนด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย ห้องเรียนสมัยใหม่มีการติดตั้งเครื่องฉายภาพวีดิทัศน์ เครื่องคอมพิวเตอร์ รูปแบบของสื่อที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนก็มีให้เลือกหลากหลาย ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำมาใช้

1. เทคโนโลยีสารสนเทศกับระบบการเรียนการสอนทางไกล
การเรียนการสอนทางไกลโดยใช้ระบบโทรทัศน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีข้อจำกัดคือ เป็นการสื่อสารทางเดียว(One-Way Communication) ทำให้ผู้เรียนได้รับข่าวสารข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่สามารถซักถามปัญหาต่างๆได้ จึงมีระบบกระจายสัญญาณในรูปของสาย(Cable) โดยระบบสัญญาณด้วยเส้นใยแก้วนำแสง(Fiber Optic Transmission System) ในการสื่อสารเหมือนสายโทรศัพท์ แต่มีความเร็วในการสื่อสารข้อมูลได้มากกว่าสายโทรศัพท์ธรรมดา และส่งกระจายสัญญาณไปตามบ้านเรือนต่างๆก่อให้เกิดระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพขึ้น ระบบดังกล่าวนี้เป็นการโต้ตอบสองทาง(Two-Way Communication) กล่าวคือทางฝ่ายผู้เรียนสามารถเห็นผู้สอนและผู้สอนก็เห็นผู้เรียนถึงแม้จะอยู่ห่างไกลกัน ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตอบโต้กัน เห็นภาพกันเสมือนนั่งอยู่ในห้องเดียวกัน ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพจึงเป็นระบบหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อการศึกษาทางไกลเป็นอย่างมาก
เมื่อระบบการศึกษาเน้นระบบการกระจายการศึกษา การเรียนการสอนในห้องเรียนปกติและมีครูเป็นผู้สอน จำกัดเวลาเรียนตายตัว และต้องเรียนในสถานที่ที่จัดไว้ให้ ก็อาจเปลี่ยนแปลงไปเป็นการจัดการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนช่วยในการเรียนรู้ และเชื่อมโยงการสอนของครูที่เชี่ยวชาญ ไปสู่ผู้เรียนในสถานที่ต่างๆได้ทั่วถึงและรวดเร็ว ระบบการเรียนการสอนทางไกลจึงเกิดขึ้น ซึ่งสนองความต้องการของสังคมปัจจุบัน ซึ่งเป็นสังคมข่าวสาร การสอนทางไกลเป็นการเปิดโอกาสและกระจายโอกาสทางการศึกษาไปสู่บุคคลกลุ่มต่างๆอย่างทั่วถึง ทำให้เกิดการศึกษาตลอดชีวิต
1.1 ความหมายของการเรียนการสอนทางไกล
การเรียนการสอนทางไกล หมายถึง การเรียนการสอนที่ผู้เรียนและผู้สอนอยู่ไกลกันใช้วิธีการถ่ายทอดเนื้อหาสาระ และประสบการณ์โดยอาศัยสื่อประสมในหลายรูปแบบ ได้แก่ สื่อที่เป็นหนังสือ สื่อทางไปรษณีย์ ไปรษณ์อีเล็คทรอนิคส์ วิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ การประชุมทางวีดิทัศน์ (Vedeoconference) อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ช่วยให้ผู้เรียนที่อยู่ต่างถิ่นต่างที่กันสามารถศึกษาความรู้ได้
1.2 องค์ประกอบของระบบการเรียนการสอนทางไกล มีดังนี้
1.2.1 ผู้เรียน เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่มีอิสระในการกำหนดเวลา สถานที่และวิธีเรียน โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ เช่น จากการสอนสดโดยผ่านการสื่อสารทางไกล และเรียนผ่านระบบสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
1.2.2 ผู้สอน เน้นการสอนโดยใช้การสื่อสารทางไกลแบบสองทาง และอาศัยสื่อหลากหลายชนิด ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนเรียนได้ด้วยตนเองหรือเรียนเสริมภายหลังได้
1.2.3 ระบบบริหารและการจัดการ จัดโครงสร้างอื่นๆเพื่อเสริมการสอน เช่น การจัดศูนย์วิทยบริการ จัดระบบผู้สอนที่ปรึกษา ระบบการผลิตสื่อ และจัดสื่อให้ผู้เรียนโดยตรง เป็นต้น
1.2.4 การควบคุมคุณภาพจัดทำอย่างเป็นระบบ และดำเนินการต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเน้นการควบคุมคุณภาพในด้านขององค์ประกอบของการสอน เช่น ขั้นตอนการวางแผน กระบวนการเรียนการสอน วิธีการประเมินผลและการปรับปรุงกระบวนการเรียน เป็นต้น
1.2.5 การติดต่อระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และสถาบันการศึกษาเป็นการติดต่อแบบสองทาง โดยใช้โทรทัศน์ โทรสาร ไปรษณีย์อีเล็คทรอนิกส์ เป็นต้น
1.3 กระบวนการเรียนการสอน มีขั้นตอนสำคัญๆ 3 ขั้นตอน คือ
1.3.1 การเรียนการสอน การเรียนทางไกลอาศัยครูและอุปกรณ์การสอนสามารถใช้สอนผู้เรียนได้มากกว่า 1 ห้องเรียน และได้หลายสถานที่ ซึ่งจะเหมาะกับวิชาที่มีผู้เรียนหลายๆแห่งต้องเรียนเหมือนๆกัน เช่น วิชาพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องจ้างครูและซื้ออุปกรณ์สำหรับการสอนในวิชาเดียวกันของแต่ละแห่ง การสอนผู้เรียนจำนวนมากๆในหลายสถานที่ ครูสามารถเลือกให้ผู้เรียนถามคำถามได้ เนื่องจากมีอุปกรณ์ช่วยในการโต้ตอบ เช่น ไมโครโฟน กล้องวีดิทัศน์ และจอภาพ เป็นต้น
1.3.2 ปฏิสัมพันธ์ ขั้นตอนที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือการใช้คำถามเพื่อให้เกิดการโต้ตอบ หรือปฏิสัมพันธ์ สื่อที่ใช้อาจเป็นโทรศัพท์ หรือกล้องวีดิทัศน์ ในแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือโทรสาร หรือไปรษณีย์อิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการถามตอบภายหลัง
1.3.3 การประเมินผล รูปแบบการประเมินผลการเรียนการสอนทางไกลนั้น ผู้เรียนสามารถส่งการบ้าน และทำแบบทดสอบโดยใช้ไปรษณีย์อิเล็คทรอนิกส์ หรืออาจเป็นรูปแบบการประเมินผลในห้องเรียนปกติในห้องเรียนที่จัดไว้ เพื่อผสมผสานกันไปกับการเรียนทางไกล
การนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการสอนทางไกลจะประสบผลมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำมาใช้เข้าใจแนวคิด หลักการ ตลอดจนมีการวางแผนและเตรียมการไว้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนให้มากจะทำให้การเรียนการสอนน่าสนใจยิ่งขึ้น การใช้สื่อและอุปกรณ์การสื่อสารอย่างหลากหลายทำให้เกิดสภาวะยืดหยุ่นของการจัดการเรียนการสอนซึ่งเหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน โดยทั้งหมดทำให้บรรลุเป้าหมายที่สำคัญคือ ความสามารถในการกระจายโอกาสทางการศึกษาและยกระดับคุณภาพของการศึกษา จึงกลายเป็นทางลัดที่เอื้อต่อการเรียนหลายประเภทและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษา
2. สื่อประสม
สื่อประสม(Multimedia) คือ การใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับโปรแกรมซอฟต์แวร์ในการสื่อความหมายโดยการผสมผสานสื่อหลายชนิด เข่น ข้อความ สีสัน ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว เสียง และภาพยนตร์ วีดิทัศน์ และผู้ใช้สามารถควบคุมสื่อให้เสนอเนื้อหาตามต้องการได้ระบบนี้จะเรียกว่า สื่อประสมปฏิสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์ของผู้ใช้สามารถกระทำได้โดยผ่านทางคีย์บอร์ด เมาส์ หรือตัวชี้ เป็นต้น
2.1 การใช้สื่อประสมเพื่อการเรียนการสอน
การใช้สื่อประสม ก็เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเรียนและสนองต่อรูปแบบของการเรียนของผู้เรียนที่แตกต่างกัน การจำลองสภาพการณ์ของวิชาต่างๆเป็นวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงก่อนการลงมือปฏิบัติจริง โดยสามารถที่จะทบทวนขั้นตอนและกระบวนการได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนอาจเรียนหรือฝึกซ้ำได้ และใช้สื่อประสมในการฝึกภาษาต่างประเทศ โดยเน้นเรื่องการออกเสียงและฝึกพูด
สื่อประสมสามารถเชื่อมทฤษฎีและการปฏิบัติเข้าด้วยกันคือ ให้โอกาสผู้ใช้บทเรียนได้ทดลองฝึกปฏิบัติในสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียน และช่วยเปลี่ยนผู้ใช้บทเรียนจากสภาพการเรียนรู้ในเชิงรับมาเป็นเชิงรุก ในด้านของผู้สอนใช้สื่อประสมจะสามารถนำเสนอความรู้ได้หลายสื่อและเสมือนจริงได้มากกว่าการใช้สื่อประเภทแผ่นใสเพียงอย่างเดียว
2.2 องค์ประกอบของสื่อประสม
ระบบสื่อประสมที่ใช้กับคอมพิวเตอร์เป็นระบบที่เน้นการโต้ตอบกับผู้เรียนกล่าวคือ เมื่อคอมพิวเตอร์นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ผู้ใช้สามารถโต้ตอบในลักษณะเวลาจริง (Real Time) การโต้ตอบจึงทำให้รูปแบบของการใช้งานมีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ได้มากขึ้นดังระบบสื่อประสมจึงเป็นระบบการนำข้อมูลข่าวสารที่มีขนาดใหญ่มาใช้กับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเน้นการใช้สื่อประสมหลายรูปแบบ ได้แก่ เสียง ภาพถ่าย ภาพกราฟิก ภาพเคลื่อนไหว และวีดิทัศน์ เป็นต้น
สื่อประสมสามารถสร้างขึ้นจากโปรแกรมประยุกต์หลายโปรแกรม แต่อย่างไรก็ตามจะต้องประกอบด้วย 2 สื่อ หรือมากกว่าตามองค์ประกอบดังนี้ ข้อความ ภาพนิ่ง เสียง ภาพเคลื่อนไหว การเชื่อมโยงแบบปฏิสัมพันธ์ ภาพยนตร์ หรือวีดิทัศน์
การที่สื่อประสมสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้มากและน่าสนใจ สื่อประสมจึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในวงการศึกษา สื่อประสมมีความเหมาะสมสำหรับองค์ประกอบการเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้โดยตอบรับประสาทสัมผัสได้มากกว่า สื่อประสมจึงเป็นสื่อการเรียนการสอนและการศึกษาที่มีขอบเขตกว้างขวาง เพิ่มทางเลือกในการเรียนการสอน สามารถสนองต่อรูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียนที่แตกต่างกันได้สามารถจำลองสภาพการณ์ของวิชาต่างๆเพื่อการเรียนรู้ได้ ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงก่อนลงมือปฏิบัติจริง สามารถที่จะทบทวนขั้นตอนและกระบวนการได้เป็นอย่างดี จึงกล่าวได้ว่า สื่อประสมมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการเรียนการสอน
3. อินเทอร์เน็ตกับการศึกษา
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ประโยชน์กับการศึกษา เพราะว่าในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีข้อมูลข่าวสารที่ต้องการมากมายและครอบคลุมทุกแห่งทั่วโลก ซึ่งอินเทอร์เน็ตมีบทบาทต่อการศึกษาดังนี้
3.1 การใช้ระบบสื่อสารส่วนบุคคล บนอินเทอร์เน็ตมีไปรษณีย์อิเล็คทรอนิกส์ หรือเรียกย่อๆว่า อีเมล์(e-Mail) เป็นระบบที่ทำให้การสื่อสารระหว่างกันเกิดขึ้นได้ง่าย แต่ละบุคคลจะมีตู้จดหมายเป็นของตัวเอง สามารถส่งข้อความถึงกันผ่านระบบนี้ โดยส่งไปยังตู้จดหมายของกันและกัน นอกจากนี้ยังสามารถประยุกต์ใช้ในการศึกษาได้ เช่น การแจ้งผลสอบผ่านทางอีเมล์ การส่งการบ้าน การโต้ตอบในกิจกรรมการเรียนการสอนระหว่างผู้สอนกับนักศึกษา
3.2 ระบบข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตมีลักษณะเหมือนกระดานข่าว ที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก ทุกคนสามารถเปิดกระดานข่าวที่ตนเองสนใจ หรือสามารถส่งข่าวสารผ่านกลุ่มข่าวบนกระดานนี้เพื่อโต้ตอบข่าวสารกันได้ เช่น กลุ่มสนใจงานเกษตรก็สามารถมีกระดานข่าวของตนเองไว้สำหรับอภิปรายปัญหากันได้
3.3 การใช้เพื่อสืบค้นข้อมูลข่าวสารต่างๆบนอินเทอร์เน็ตมีแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงกัน และติดต่อกับห้องสมุดทั่วโลก ทำให้การค้นหาข้อมูลข่าวสารต่างๆทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ หมายถึง สามารถค้นหาและได้มาซึ่งข้อมูลโดยใช้เวลาอันสั้น โดยเฉพาะบนอินเทอร์เน็ตจะมีคำสำคัญ(Keyword) ไว้ให้สำหรับการสืบค้นที่รวดเร็ว
3.4 ฐานข้อมูลเครือข่ายใยแมงมุม(World Wide Web) เป็นฐานข้อมูลแบบเอกสาร(Hypertext) และแบบสื่อหลายมิติ(Hypermedia) จนมาถึงปัจจุบันฐานข้อมูลเหล่านี้ได้พัฒนาขึ้นจนเป็นแบบสื่อประสม ซึ่งมีข้อความ รูปภาพ วีดิทัศน์ และเสียง ผู้ใช้เครือข่ายนี้สามารถสืบค้นกันได้จากที่ต่างๆทั่วโลก
3.5 การพูดคุยแบบโต้ตอบหรือคุยเป็นกลุ่ม บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสามารถเชื่อมต่อกันและพูดคุยกันได้ด้วยเวลาจริง ผู้พูดสามารถพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนเครือข่าย เช่น ฝ่ายหนึ่งอาจอยู่ต่างประเทศ อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ในที่ห่างไกลก็พูดคุยกันได้ และยังสามารถพูดคุยกันเป็นกลุ่มได้
3.6 การส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกันแบบ FTP(Files Transfer Protocol) คือ สามารถที่จะโอนย้ายถ่ายเทข้อมูลระหว่างกันเป็นจำนวนมากๆได้ โดยส่งผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตซึ่งทำให้สะดวกต่อการรับส่งข้อมูลข่าวสารซึ่งกันและกันโดยไม่ต้องเดินทาง และข่าวสารถึงผู้รับได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
3.7 การใช้ทรัพยากรที่ห่างไกลกัน ผู้เรียนอาจเรียนอยู่ที่บ้านและเรียกใช้ข้อมูลที่เป็นทรัพยากรการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยได้และยังสามารถขอใช้ทรัพยากรคอมพิวเตอร์ในต่างมหาวิทยาลัยได้ เช่น มหาวิทยาลัยหนึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์แบบซูเปอร์คอมพิวเตอร์ และผู้อยู่อีกมหาวิทยาลัยหนึ่งก็ขอใช้ได้ ทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่เป็นซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่ายิ่ง
จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าประโยชน์ของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมีมากมาย ทำให้มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่ง ต่างก็เร่งที่จะจัดให้มีการดำเนินงานโครงการ สร้างเครือข่ายความเร็วสูงขึ้นในมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรภายในหน่วยงาน และสามารถเชื่อมโยงภายนอกได้อย่างรวดเร็วอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับการจัดการศึกษาและการเรียนการสอน
4. การสอนบนเว็บ
การสอนบนเว็บ เป็นการจัดการเรียนที่มีสภาพการเรียนต่างไปจากรูปแบบเดิม การเรียนการสอนแบบนี้อาศัยศักยภาพและความสามารถของเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วยเป็นสื่อสนับสนุนการเรียนการสอนและช่วยการสืบค้นข้อมูล และมีการเชื่อมโยงเครือข่ายทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกสถานที่และทุกเวลา การจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้อาจมีชื่อเรียกต่างกัน ได้แก่ การสอนบนเว็บ(Web-based Instruction) การฝึกอบรมบนเว็บ (Web-based Training) เป็นต้น
4.1 ความหมายของการสอนบนเว็บ
การสอนบนเว็บ เป็นการประยุกต์ใช้ยุทธวิธีการสอนด้านพุทธพิสัย(Cognitive) ภายใต้สภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ และการเรียนแบบร่วมมือกัน(Collaborative Learning) การเรียนแบบนี้ผู้เรียนเป็นผู้ควบคุมการเรียนด้วยตัวเอง เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ(Child Center) และเรียนด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น(Learner Interaction)
การสอนบนเว็บ เป็นการจำลองสถานการณ์การเรียนการสอนในห้องเรียนในรูปแบบของการสืบค้นองค์ความรู้จากเว็บ หรืออาจเรียกว่า อีเลิร์นนิ่ง(e-Learning) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอีเอ็ดยูเคชั่น(e-Education)
4.2 องค์ประกอบของการเรียนการสอน มีดังนี้
4.2.1 ระบบการเรียนการสอน มีการจัดการและออกแบบภายใต้วิธีการของระบบคือ จะต้องมีปัจจัยนำเข้า(Input) กระบวนการ(Process) และผลลัพธ์(Output)
1) สิ่งนำเข้า ในที่นี้ได้แก่ ผู้เรียน ผู้สอน วัตถุประสงค์ การเรียน สื่อ การสอน ฐานความรู้ การสื่อสารและกิจกรรม การประเมินผล เป็นต้น
2) กระบวนการ ได้แก่ การสร้างสถานการณ์หรือการจัดสภาวะการเรียนการสอน โดยใช้วัตถุดิบจากสิ่งนำเข้าตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
3) ผลลัพธ์ ได้แก่ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งได้จากการวัดและประเมินผล
4.2.2 ความเป็นเงื่อนไข เงื่อนไขถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการสอนบนเว็บ อาทิ กำหนดว่าเมื่อเสร็จสิ้นการเรียนแล้วจะต้องทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบ หากทำแบบฝึกหัดหรือแบบทดสอบผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ก็สามารถไปศึกษาบทเรียนอื่นๆหรือบทเรียนที่ยากขึ้นเป็นลำดับได้ แต่ถ้าไม่ผ่านตามเงื่อนไขที่กำหนดจะต้องเรียนซ้ำจนกว่าจะผ่านเกณฑ์นั้น
4.2.3 การสื่อสารและกิจกรรม การสื่อสารเป็นส่วนของการสร้างปฏิสัมพันธ์ส่วนกิจกรรมจะเป็นตัวกระตุ้นให้ปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้ต่างไปจากห้องเรียนปกติ กิจกรรมจะเป็นตัวช่วยให้การเรียนรู้เข้าสู่วัตถุประสงค์ได้ง่ายขึ้น การสื่อสารและกิจกรรมเกิดขึ้นระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับเนื้อหาวิชา
4.2.4 สิ่งนำทางค้นคว้า เป็นการกำหนดแหล่งความรู้ภายนอกที่เกี่ยวข้องกับบทเรียน โดยกำหนดด้วยสิ่งนำทางการค้นคว้า เช่น แหล่งความรู้ภายนอกที่กำหนดอย่างเป็นลำดับกล่าวคือมีการศึกษาก่อนหลัง มีความยากง่ายเป็นลำดับ มีการจัดเรียน หัวข้อตามลำดับ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนไม่หลงทาง และเรียนรู้ไปตามลำดับขั้นตอน
4.3 สื่อที่ใช้บนเว็บ
4.3.1 เวิล์ด ไวด์ เว็บ(World Wide Web) ใช้สำหรับเป็นแหล่งความรู้พื้นฐานและเป็นแหล่งความรู้ภายนอกเพื่อการสืบค้น
4.3.2 ไปรษณีย์อีเล็คทรอนิกส์(e-Mail) ใช้ติต่อสื่อสารระหว่างกับผู้สอนหรือเพื่อนร่วมชั้นด้วยกันใช้ส่งการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมาย
4.3.3 กระดานข่าว(Webboard) ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และผู้เรียนเป็นกลุ่ม ใช้กำหนดประเด็นหรือกระทู้ตามที่ผู้สอนกำหนด หรือตามแต่ผู้เรียนกำหนด เพื่อช่วยกันอภิปรายตอบคำถามในประเด็นที่เป็นกระทู้นั้นๆ
4.3.4 กระดานพูดคุย(Chat) ใช้ติต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียน โดยการสนทนาแบบเวลาจริง(Real Time) โดยมีทั้งสนทนาด้วยตัวอักษรและสนทนาทางเสียง(Voice Chat) ลักษณะใช้คือใช้สนทนาระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในห้องเรียนหรือชั่วโมงเรียนเสมือนว่ากำลังรียนอยู่ในห้องเรียนจริงๆ
4.3.5 ไดซีคิว(ICQ) ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอนและผู้เรียนโดยการสนทนาแบบเวลาจริง หรือหลังจากนั้นแล้ว โดยเก็บข้อความไว้ การสนทนาระหว่างผู้เรียนและผู้สอนในห้องเรียนเสมือนว่ากำลังคุยกันในห้องเรียนจริงๆและบางครั้งผู้เรียนก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเวลานั้นๆ ไอซีคิวจะเก็บข้อความไว้ให้และยังทราบด้วยว่าในขณะนั้นผู้เรียนอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์หรือไม่
4.3.6 การประชุม(Conference) ใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอน และผู้เรียนแบบเวลาจริง โดยที่ผู้เรียนและผู้สอนสามารถเห็นหน้ากันได้โดยผ่านทางกล้องโทรทัศน์ที่ติดอยู่กับเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งสองฝ่ายใช้บรรยายให้ผู้เรียนที่อยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เสมือนว่ากำลังเรียนอยู่ในห้องเรียนจริงๆ
4.3.7 การบ้านอิเล็คทรอนิกส์ ใช้สำหรับติดต่อสื่อสารระหว่างผู้เรียน ผู้สอนเป็นเหมือนสมุดประจำตัวผู้เรียน โดยที่ผู้เรียนไม่ต้องถือสมุดการบ้านจริงๆและใช้ส่งงานตามที่ผู้สอนกำหนด เช่น ให้เขียนรายงานโดยที่ผู้สอนสามารถเปิดดูการบ้านอิเล็กทรอนิกส์ของผู้เรียนและเขียนบันทึกเพื่อตรวจงาน และให้คะแนนได้แต่ผู้เรียนจะเปิดดูไม่ได้
4.4 ข้อดีของการสอนบนเว็บ
4.4.1 ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียน ผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนกับแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ
4.4.2 ช่วยลดรายจ่ายในสภาพการเรียนการสอนจริง ที่มีอาคารพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆซึ่งเสียค่าใช้จ่ายมาก มีการเตรียมวัสดุอุปกรณ์และบางครั้งอาจเสี่ยงอันตราย ดังนั้นการสอนบนเว็บจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายได้
4.4.3 ทำข้อมูลให้ทันสมัยและเป็นปัจจุบันได้ง่ายและรวดเร็ว จึงทำให้เนื้อหาวิชาที่ผู้เรียนได้รับถูกต้องอยู่เสมอ
4.4.4 ข้อมูลต่างๆที่ใช้ในการเรียนการสอนสามารถอ้างอิงผ่านระบบการสืบค้นได้ทันที
4.5 ข้อจำกัดของการสอนบนเว็บ
4.5.1 ค่าใช้จ่ายในเรื่องเครื่องคอมพิวเตอร์ การติดตั้ง ค่าเช่า กรณีอยู่ต่างจังหวัดมีราคาสูงมาก
4.5.2 ขาดผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบระบบการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
4.5.3 มีอุปสรรคในด้านภาษา เนื่องจากข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตส่วนมากเป็นภาษาอังกฤษ
4.5.4 ประสิทธิภาพการเรียนทั้งหมดอยู่ที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้สอนไม่สามารถควบคุมการเรียนของผู้เรียนได้
4.5.5 ความเร็วในการเข้าถึงข้อมูลและสืบค้นยังช้า ทำให้เกิดความน่าเบื่อหน่าย
4.5.6 ผู้ใช้ยังขาดทักษะการใช้คอมพิวเตอร์ และเครือข่ายจึงทำให้ไม่ค่อยอยากใช้ และไม่สนใจที่จะเรียนในรูปแบบนี้
4.5.7 ไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเรียนการสอนของสังคม ซึ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้จากครูผู้สอนเป็นหลัก
4.5.8 ขาดการสนับสนุนและปฏิรูปการจัดการศึกษา จากผู้บริหารในทุกรูประดับซึ่งไม่เข้าใจเทคโนโลยีสารสนเทศ

5. หนังสืออิเล็คทรอนิกส์
หนังสืออิเล็คทรอนิกส์(e-book) นับเป็นพัฒนาการอีกด้านหนึ่ง ของการเก็บข้อมูลจำนวนมากด้วยซีดีรอม ซีดีรอมหนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลตัวอักษรได้มากถึง 600 ล้านตัวอักษร ดังนั้น ซีดีรอมหนึ่งแผ่นสามารถเก็บข้อมูลหนังสือ หรือเอกสาร ได้มากกว่าหนังสือหนึ่งเล่ม และที่สำคัญคือการใช้กับคอมพิวเตอร์ทำให้สามารถเรียกค้นหาข้อมูลภายในซีดีรอมได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ดัชนีสืบค้น หรือสารบัญเรื่อง ซีดีรอมจึงเป็นสื่อที่มีบทบาทต่อการศึกษาอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตหนังสือต่างๆจะจัดเก็บอยู่ในรูปซีดีรอม และเรียกอ่านด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่าหนังสืออิเล็คทรอนิกส์ ซีดีรอมมีข้อดีคือ สามารถจัดเก็บข้อมูลในรูปของสื่อประสม และเมื่อนำซีดีรอมหลายแผ่นใส่ไว้ในเครื่องอ่านชุดเดียวกัน ทำให้ซีดีรอมสามารถขยายการเก็บข้อมูลจำนวนมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันแนวโน้มด้านราคาของซีดีรอมมีแนวโน้มถูกลงเรื่อยๆ จนแน่ใจว่าสื่อซีดีรอมจะเป็นสื่อที่นำมาใช้แทนหนังสือที่ใช้กระดาษในอนาคต ทั้งนี้เชื่อว่าสื่อที่ใช้กระดาษจะมีแนวโน้มราคาสูงขึ้น
ในการประยุกต์หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มาในทางการศึกษา มักใช้เพื่อเป็นสื่อแทนหนังสือ หรือตำรา หรือใช้เพื่อเป็นสื่อเสริมการเรียนด้วยตนเอง ผู้เรียนนำแผ่นซีดีที่บรรจุข้อมูลหนังสือทั้งเล่มมาอ่านด้วยคอมพิวเตอร์ และเมื่อต้องการข้อมูลส่วนใดก็สามารถคัดลอกและอ้างอิงนำมาใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องจัดพิมพ์ใหม่ โปรแกรมประยุกต์ในปัจจุบันที่ใช้อ่านข้อมูลที่จัดเก็บในแผ่นซีดีรอม ได้แก่ Acrobat Reader , Nescape Navigator , Internet Explore เป็นต้น
6. การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ
การประชุมทางไกลผ่านจอภาพ(Videoteleconference) เป็นระบบการประชุมทางไกลผ่านจอวีดิทัศน์ โดยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย เป็นการประชุมร่วมกันระหว่างบุคคล หรือคณะบุคคลที่อยู่ต่างสถานที่ และห่างไกลกันคนละซีกโลก ด้วยสื่อประสมที่ให้ทั้งภาพเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง เสียง และข้อมูลตัวอักษรในการประชุมเวลาเดียวกัน และเป็นการสื่อสาร 2 ทาง จึงทำให้ดูเหมือนว่าได้เข้าร่วมประชุมกันตามปกติ การนำมาใช้กับการศึกษานั้นจะช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ผ่านทางจอภาพ โทรทัศน์ และเสียง ผู้เรียนในห้องเรียนที่อยู่ห่างไกลสามารถเห็นภาพและเสียงของครู สามารถเห็นอากัปกิริยาของผู้สอน เห็นการเคลื่อนไหวและสีหน้าของครูในขณะเรียน
ในระบบของการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ มีองค์ประกอบพื้นฐานประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
6.1 เครือข่ายโทรคมนาคม มีหน้าที่เชื่อมสัญญาณจากผู้ร่วมประชุมแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกันเพื่อการประชุม
6.2 อุปกรณ์เชื่อมต่อ(Terminal) เป็นอุปกรณ์ต้นทางและปลายทาง ทำหน้าที่รับและถ่ายทอดภาพและเสียง อุปกรณ์เชื่อมต่อสำคัญของระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพประกอบด้วยอุปกรณ์ต่างๆ คือ
6.2.1 กล้องโทรทัศน์ เป็นกล้องโทรทัศน์ที่ใช้ในการถ่ายภาพ มีระบบเซอร์โวเพื่อควบคุมในระยะไกลให้กล้องสามารถปรับมุมเงย มุมก้ม กวาดทางซ้ายหรือทางขวา ซูมภาพ เป็นต้น กล้องโทรทัศน์ที่ใช้จะสามารถควบคุมได้จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในระยะไกลได้
6.2.2 จอภาพโทรทัศน์ หรือจอมอนิเตอร์ เป็นจอภาพที่สามารถใช้ได้ทั้งกับระบบ PAL หรือ NTSC ภาพที่ปรากฏมีระบบรวมสัญญาณเพื่อแบ่งจอภาพออกเป็นจอเล็กๆเพื่อดูปลายทางของแต่ละด้าน หรือดูภาพของตนเอง ระบบจอภาพอาจขยายเป็นจอใหญ่ขนาดหลายร้อยนิ้วได้ เช่น การใช้เครื่องฉายภาพโทรทัศน์แทนจอภาพโทรทัศน์ เป็นต้น
6.2.3 เครื่องขายาเสียง มิกเซอร์ และไมโครโฟน เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขยายเสียงทั้งที่ต้นทางและปลายทาง ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ร่วมประชุม หรือผู้เรียนในห้องทางไกลและด้านต้นทางได้ยินเสียงชัดเจน สำหรับมิกเซอร์ใช้เพื่อรวมสัญญาณเสียงจากเครื่องเล่นวีดิทัศน์ จากคอมพิวเตอร์และจากไมโครโฟน
6.2.4 คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นวีดิทัศน์ และกล้องเอกสาร เป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สื่อต่างๆประกอบการประชุมหรือสอนทางไกล เช่น การใช้ Power Point นำเสนอข้อความ ภาพ หรือใช้กล้องเอกสารเพื่อส่งข้อความในรูปเอกสาร หรือนำเสนอข้อมูล ในหนังสือหรือตำรา ส่วนเครื่องเล่นวีดิทัศน์ใช้เพื่อนำรายการวีดิทัศน์ไปให้ผู้ชมที่อยู่ต้นทางและปลายทาง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้สื่อมากยิ่งขึ้น
6.2.4 แป้นควบคุม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับควบคุมระบบ เช่น ควบคุมการปรับมุมกล้องที่ปลายทาง หรือที่ต้นทาง การเลือกช่องสัญญาณ การปรับระดับเสียง การปิดเสียง การปรับภาพและสลับภาพ การปรับมุมกล้องและขนาดของภาพที่ถ่ายด้วยกล้องโทรทัศน์ รวมถึงการใช้โทรเพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างกัน เป็นต้น
6.2.6 อุปกรณ์ประกอบอื่นๆ ได้แก่ ลำโพง เครื่องโทรสาร เครื่องโทรทัศน์ทั้งต้นทางและปลายทาง เพื่อการสื่อสารด้วยช่องทางอื่นๆเพิ่มขึ้น
6.2.7 อุปกรณ์เข้ารหัสและถอดรหัส ในการใช้ระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ มีความจำเป็นต้องใช้ตัวเข้ารหัสและถอดรหัสจำนวน 2 ชุด เพื่อแปลงสัญญาณแบบอนาล็อกเป็นสัญญาณดิจิทัลเพื่อออกทางจอภาพโทรทัศน์และเครื่องขยายเสียง เพื่อให้ได้การสื่อสารที่เหมือนกับต้นทางมากที่สุด
7. วีดิทัศน์ตามคำขอ
วีดิทัศน์ตามคำขอ(Video on Demand) เป็นระบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมมาใช้ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยอาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงทำให้ผู้ชมตามบ้านเรือนต่างๆ สามารถเลือกรายการวีดิทัศน์ที่ตนเองต้องการชมได้ โดยเลือกตามรายการและเลือกชมได้ตลอดเวลา
วีดิทัศน์ตามคำขอเป็นระบบที่มีศูนย์กลางการเก็บข้อมูลวีดิทัศน์ไว้จำนวนมาก โดยจัดเก็บในรูปแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่(Video Server) เมื่อผู้ใช้ต้องการเลือกชมรายการใดก็เลือกได้จากฐานข้อมูลที่ต้องการ ระบบวีดิทัศน์ตามคำขอจึงเป็นระบบที่จะนำมาใช้ในเรื่องการเรียนการสอนทางไกลโดยไม่มีข้อจำกัดด้านเวลา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองต้องการเรียนหรือสนใจได้
7.1 องค์ประกอบของระบบวีดิทัศน์ตามคำขอ
7.1.1 เครื่องแม่ข่ายวีดิทัศน์(Video Server) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูง มีที่เก็บข้อมูลที่มีความจุสูงมาก และมีความเร็วในการอ่านข้อมูลสูง เพื่อที่จะเก็บข้อมูลวีดิทัศน์สนองต่อความต้องการโดยผ่านทางเครือข่ายเอทีเอ็ม(Asynchronous Transfer Mode) ของผู้ใช้ภายในเครื่องแม่ข่ายยังเป็นที่บรรจุตัวเข้ารหัสตามเวลาจริง (Real Time Encoder) สำหรับการเข้าถึง(Access) รายการต่างๆโดยปกติแล้วข้อมูลวีดิทัศน์มีขนาดใหญ่ และต้องการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูง เมื่อใช้เทคโนโลยีบีบอัดข้อมูลแบบเอ็มเพ็ก(MPEG) จึงทำให้การส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น และได้ข้อมูลขนาดใหญ่เกินไป ขนาดของข้อมูลเป็นตัวกำหนดคุณภาพ เช่น ส่งข้อมูลขนาด 1-5 เม็กกะบิตต่อวินาที ใช้มาตรฐาน MPEG-1 สำหรับคุณภาพระดับวีดิทัศน์ระบบวีเฮซเอส VHS และ 6-8 เม็กกะบิตต่อวินาที สำหรับคุณภาพ MPEG-2 หรือระดับดีวีดี DVD เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับและแจกจ่ายข้อมูลวีดิทัศน์เหล่านั้นไปยังผู้ใช้บริการ
7.1.2 เครื่อข่ายการสื่อสารแบบเอทีเอ็ม(ATM) เป็นการส่งข้อมูลด้วยความเร็วสูงโดยข้อมูลรายการต่างๆจะสร้างขึ้นมาในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายแล้วแปลงให้เป็นเอทีเอ็มโหมด จากนั้นก็จะส่งข้อมูลผ่านทางเครือข่าย(Access Network) โดยอาศัยเอทีเอ็มเซลล์ไปยังผู้ใช้บริการ
7.1.3 เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่าย(Video Client) เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่สามารถแปลงข้อมูลที่ได้รับจากเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายให้เป็นสัญญาณและแสดงผลขึ้นบนจอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรทัศน์ได้
7.2 การให้บริการของระบบวีดิทัศน์ตามคำขอ มีคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้
7.2.1 ความสามารถในการให้บริการวีดิทัศน์ในลักษณะหนึ่งต่อหนึ่ง(one to one) ไม่ใช้ลักษณะออกอากาศแบบกระจายสัญญาณ(Broadcast)
7.2.2 ผู้ใช้สามารถควบคุมการเล่นภาพได้ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องเล่นวีดิทัศน์ตามบ้านทั่วไป กล่าวคือผู้ใช้ต้องสามารถเล่นภา หยุดภาพ กรอกลับหรือกรอไปข้างหน้าได้ตามต้องการ
7.2.3 มีความเร็วในการส่งข้อมูล ภาพเคลื่อนไหวพร้อมเสียงได้อย่างน้อย 1.5 เมกะบิตต่อวินาที(Mbps) สำหรับคุณภาพระดับวีดิทัศน์ระบบวีเฮชเอส(VHS) และอย่างน้อย 6-8 เมกะบิตต่อวินาที สำหรับคุณภาพระดับเลเซอร์ดิสก์ หรือดีวีดี(DVD)
7.2.4 มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีเพียงพอ เนื่องจากมีข้อมูลที่สำคัญ หรือต้องการเสถียรภาพของระบบบริการที่ดี หมายถึง ไม่เกิดความเสียหายกับข้อมูลภาพและเสียง
การใช้งานวีดิทัศน์ตามคำขอ จะให้ความสะดวกต่อผู้ใช้มากกว่าระบบวีดิทัศน์ทั่วๆไป ซึ่งส่งสัญญาณออกมาชุดเดียว( 1 Stream) สำหรับผู้ใช้ทุกคน แต่ละคนได้ดูภาพสัญญาณเดียวกัน รายการต่างๆจะมีเวลาตายตัวตามที่กำหนดไว้ ผู้ใช้ต้องรอเวลาเพื่อที่จะได้ดูรายการที่ต้องการ ส่วนวีดิทัศน์ตามคำขอผู้ใช้แต่ละคนสามารถเลือกดูรายการที่ตนเองสนใจเวลาใดก็ได้ไม่ขึ้นกับผู้อื่น และไม่ต้องรอตารางเวลา แต่ก็ต้องใช้ความเร็วของเครือข่ายสื่อสารมาก เนื่องจากต้องส่งสัญญาณวีดิทัศน์แยกสำหรับผู้ใช้แต่ละคน( 1 Stream ต่อ 1 คน) ดังนั้น เครือข่ายสื่อสารจึงต้องมีความเร็วสูงมาก สามารถนำระบบวีดิทัศน์ตามคำขอมาใช้เพื่อการศึกษาได้เป็นอย่างดี เช่น นำมาใช้เพื่อการเรียนการสอนทางไกล(Distance Learning) โดยผู้เรียนสามารถลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งและเมื่อต้องการเรียนโดยเลือกบทเรียนจากวีดิทัศน์ที่เก็บอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนและทบทวนบทเรียนได้ทุกเวลาตามความต้องการด้วยตนเอง




บทสรุป

ในปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีการพัฒนาแบบก้าวหน้าและได้เข้ามามีบทบาทต่อการศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์ และการสื่อสารโทรคมนาคมนั้นได้ถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาการศึกษาทั้งในด้านการเรียนการสอน ด้านสนับสนุนการจัดการศึกษาและใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารระหว่างบุคคล อันได้แก่ มีระบบคอมพิวเตอร์ช่วยการสอน อินเทอร์เน็ต การสอนโดยใช้เว็บไซต์ การเรียนการสอนทางไกล สื่อประสม ฯลฯ
เทคโนโลยีสารสนเทศมีแนวโน้มที่จะพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง จึงย่อมส่งผลต่อการศึกษาอย่างมาก ดังนั้นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการวางแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งผู้บริหารสถานศึกษาตลอดจนครูผู้สอนต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีราคาค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องเลือกสรรแนวทางการนำมาใช้ให้เหมาะสมและพิจารณาปัจจัยด้านความสัมพันธ์ระหว่างองค์กร การจัดการและเทคโนโลยีประกอบด้วย เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากับการลงทุน

คำถามทบทวน

1. จงอธิบายข้อแตกต่างระหว่างข้อมูลกับสารสนเทศ
2. จงอธิบายความหมายของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
3. เทคโนโลยีสารสนเทศมีบทบาทกับการศึกษาอย่างไร
4. จงอธิบายแนวทางการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้กับการเรียนการสอนทางไกล
5. องค์ประกอบที่สำคัญของระบบการเรียนการสอนทางไกลมีอะไรบ้าง
6. จงสรุปความหมายของสื่อประสมมาให้เข้าใจ
7. ทำไมจึงคาดกันว่าในอนาคตหนังสืออิเล็คทรอนิกส์จะเข้ามาแทนที่หนังสือ หรือตำราปกติ
8. จงยกตัวอย่างสื่อที่ใช้กับการเรียนการสอนโดยใช้เว็บไซต์เป็นหลักมา 4 ชนิด
9. ในระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่ออะไรบ้าง
10. ท่านคิดว่าวีดิทัสน์ตามคำขอสามารถนำมาใช้กับการศึกษาในลักษณะใดได้บ้าง


เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, สำนักงาน. (2540). หลากหลายวิธีเกี่ยวกับการใช้ ICT เพื่อ
การเรียนการสอน. . กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
คณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศแห่งชาติ. (พฤษภาคม,2542).”แนวทางการพัฒนา
สื่อประสมในประเทศไทย.” ไอทีปริทัศน์. 7(5) : 1-7
ครรชิต มาลัยวงศ์. (2541). แนวทางการใช้ไอทีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ. กรุงเทพมหานคร :
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.
ทบวงมหาวิทยาลัย, สำนักงานบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา. (2547). “เทคโนโลยี
สารสนเทศเพื่อการศึกษา.” เทคโนโลยีสารสนเทศ. [Online],Available :
Http://www.uni.net.th-08_2543/chap12.html.
ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์. (2545). ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ. พิมพ์ครั้วที่ 3.
กรุงเทพมหานคร : เอส แอนด์ จี กราฟิก.
ธนะพัฒน์ ถึงสุข, และชเนนท์ สุขอารี. (2536). เปิดโลกสื่อประสม. กรุงเทพมหานคร :
นำอักษร.
นิคม ทาแดง, กอบกุล เปรมประชา และอำนวยเดชศรีชัย. (2545). เทคโนโลยีการศึกษา
เพื่อการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานปฏิรูปการศึกษา.
ปธีป เมธาคุณวุฒิ. (2544). เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารสถาบันอุดมศึกษา.
กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
พงษ์ศักดิ์ สุสัมพันธ์ไพบูลย์. (2542). เรื่องน่ารู้การสื่อสารดาวเทียม. กรุงเทพมหานคร :
เม็ดทราย.
พรพิไล เลิศวิชา. (2544). สื่อประสมเทคโนโลยีกับโรงเรียนในศควรรตที่21. กรุงเทพมหานคร :
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ.
ยืน ภู่สุวรรณ และสมชาย นำประเสริฐชัย. (2546). ไอซีทีเพื่อการศึกษาไทย. กรุงเทพมหานคร
: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
สุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัย. (2545). เอกสารการสอนอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีและสื่อสาร
การศึกษา หน่วยที่ 1-15. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
Laudon, K.C. and Laudon, J.P. (1996). Management Information Systems: Organiza
and Technology. Upper Saddle River : Merrill.
Parker, Don B. (1990). Ethical Conflicts in Information and Computer Science,
Technology and Business. Massachusetts : QED Information Science.
Victory, Rosenborg. (1993). A Guide to Multimedia. New York: Riders.